E-commerce คืออะไร? เจาะลึกความหมาย และโอกาสทำกำไรในธุรกิจนี้
บทความน่าอ่าน
E-commerce คือ การค้ารูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่หลายคนก็ยังคิดว่าการทำธุรกิจ E-commerce เป็นเรื่องไกลตัว เพราะนึกไปถึงการมีเว็บไซต์ที่มีระบบชำระเงินและระบบคลังสินค้าขนาดใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว E-commerce มีความหมายกว้างกว่านั้น และทุกธุรกิจสามารถเริ่มต้นทำ E-commerce ได้
บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าธุรกิจ E-commerce คืออะไร ประเภทและช่องทางการทำธุรกิจ E-commerce ในปัจจุบัน พร้อมแนะนำกลยุทธ์การตลาดในการโปรโมตสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มยอดขายและกำไรให้มากขึ้น
E-commerce คืออะไร?
ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, อีคอมเมิร์ซ หรือ E-commerce คือ การดำเนินการซื้อขายสินค้าและบริการด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรืออินเทอร์เน็ต พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการซื้อขายกันแบบออนไลน์นั่นเอง
E-commerce มีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจอย่างไร?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันไปแล้ว คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตกันมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน และช้อปออนไลน์สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก!
นั่นทำให้หลาย ๆ ธุรกิจหันมาทำ E-commerce เพื่อขยายช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มโอกาสเติบโตธุรกิจให้มากขึ้น
ข้อดีของการทำ E-commerce
ธุรกิจ E-commerce มีข้อดีหลายด้านด้วยกัน อาทิ
- มีต้นทุนการขายที่ต่ำ เพราะไม่ต้องพึ่งหน้าร้าน ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานขาย ช่วยประหยัดต้นทุนด้านแรงงาน ค่าเช่าสถานที่ และการเดินทาง
- เปิดค้าขายได้ 24 ชั่วโมง ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
- เพิ่มโอกาสในการขาย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะเป็นการค้าที่ไร้พรหมแดน สามารถค้าขายได้ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ
- มีเครื่องมือที่เอื้อต่อการสื่อสาร โต้ตอบกับลูกค้า และง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ เพียงมีอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตได้
- ทำการตลาดได้อย่างแม่นยำ และสามารถวัดผลได้ เพราะสามารถใช้เว็บไซต์ หรือ Social Media ในการเก็บข้อมูลลูกค้า หรือผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมทำให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างตรงจุด
สินค้าอะไรขายผ่าน E-commerce ได้บ้าง?
สินค้าทุกอย่างสามารถขายผ่าน E-commerce ได้ ไม่ได้มีข้อจำกัด เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราอาจแบ่งประเภทสินค้าแบบกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- สินค้าที่จับต้องได้ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ เสื้อผ้า สินค้าอุปโภคบริโภค
- สินค้าที่จับต้องไม่ได้ หรือสินค้าดิจิทัล (Digital Good) เช่น แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ เพลง หนัง รูปภาพ รหัส หรือไอเท็มในเกม
- บริการ เช่น ตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก บริการสปา คลินิกเสริมความงาม
ยิ่งสินค้าที่ขายมีความแตกต่าง น่าสนใจ จะยิ่งดึงดูดลูกค้าได้มาก แต่หากเป็นสินค้าที่คนอื่น ๆ ขายเหมือนกัน ก็อาจจะทำให้ขายได้ยาก และต้องอาศัยการทำการตลาดเข้ามาช่วย
ช่องทางการขายบน E-commerce มีอะไรบ้าง?
ช่องทางการขายบน E-commerce มีหลากหลายช่องทางที่คุณสามารถทำได้ ดังนี้
1. เว็บไซต์ E-commerce / Brand.com
การขายสินค้าผ่าน เว็บไซต์ E-commerce หรือ Brand.com คือ การที่แบรนด์ทำเว็บไซต์ แล้วขายโดยตรงกับลูกค้าเอง
ข้อดีของ เว็บไซต์ E-commerce / Brand.com
- แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ มีตัวตนสำหรับลูกค้า
- สามารถออกแบบเว็บไซต์ได้ตามความต้องการ
- จัดเก็บข้อมูลลูกค้าได้ด้วยตัวเอง สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้มากกว่า
ข้อเสียของ เว็บไซต์ E-commerce / Brand.com
- มีต้นทุนการบริหารจัดการเว็บไซต์ที่ค่อนข้างสูงในช่วงแรก
- จะต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาเว็บไซต์ ให้สอดรับกับพฤติกรรมการใช้งาน หรือความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- เหมาะกับแบรนด์ที่ติดตลาด หรือเป็นที่รู้จักของลูกค้าอยู่แล้ว หากเป็นแบรนด์ใหม่ ต้องมีการทำโฆษณา เพื่อโปรโมตเว็บไซต์ให้คนรู้จักมากขึ้นด้วย
2. Marketplace
Marketplace คือ เป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลางรวบรวมสินค้า จากร้านค้า หรือแบรนด์ต่างๆ ที่สามารถเข้ามาทำการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้ และเป็นช่องทางเพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลก
ตัวอย่าง Marketplace ในไทย เช่น Lazada, Shopee, JD Central เป็นต้น
ข้อดีของ Marketplace
- เป็นแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า สามารถตรวจสอบได้
- ขายสินค้าได้สะดวก เพราะมีระบบจัดการที่ง่าย ตั้งแต่รูปแบบร้านค้าออนไลน์ ระบบการสั่งซื้อ และระบบชำระเงิน เป็นต้น
- ลูกค้าที่เข้ามามีความต้องการซื้ออยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสขายได้มาก และสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้
ข้อเสียของ Marketplace
- มีค่าใช้จ่ายในการขายสินค้า เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี หรือ ส่วนแบ่งจากยอดขาย ที่ต้องจ่ายให้กับทาง Marketplace
- มีผู้ขายจำนวนมากราย ทำให้การแข่งขันสูง ผู้ที่จะประสบความสำเร็จจำเป็นต้องรู้เทคนิค และวิธีการที่ใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- สำหรับแบรนด์ใหม่ Marketplace เหมาะกับเป็นช่องทางขาย ไม่ใช่ช่องทางสร้างแบรนด์
3. Social Commerce
Social Commerce คือ การซื้อขายสินค้า-บริการผ่านแพลตฟอร์ม Social Media เช่น Facebook, Instagram, Twitter และ LINE ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มเหล่านี้มีการพัฒนาระบบให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าและชำระเงินได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องออกจากแพลตฟอร์มนั้นๆ
ข้อดีของ Social Commerce
- มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นช่องทางที่แบรนด์สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็ว
- ผู้ซื้อ-ผู้ขาย สามารถโต้ตอบระหว่างกันได้ทันที
- มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่เพื่อรองรับการใช้งานด้าน E-Commerce อยู่เสมอ เช่น การสั่งซื้อสินค้า มีเก็บฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม เป็นต้น
- มีต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายต่ำ
ข้อเสียของ Social Commerce
- มีความน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้าน้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
- แบรนด์ไม่ได้เป็นเจ้าของ 100% เพจหรือ Account ID อาจโดนปิดกั้นจากผู้ให้บริการ
- แอดมินที่คอยคำถามลูกค้าอาจมีข้อความเข้ามามากเกินไป ทำให้ตอบไม่ทัน
Hero Tips
การเลือกแพลตฟอร์มสำหรับ E-commerce ต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ประเภทของสินค้า เงินลงทุน หรือความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้งานแพลตฟอร์มนั้น ๆ
ที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
เช่น ธุรกิจ SME ซึ่งสินค้าหรือแบรนด์อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก ระยะแรกอาจจะใช้ Social Commerce ในการเริ่มต้นทำการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สินค้าหรือแบรนด์เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
จากนั้นอาจดึงลูกค้าจาก Social Commerce ให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Marketplace ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และมีระบบอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เมื่อสินค้าหรือแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็อาจขยายมาสร้างเว็บไซต์ Brand.com ของตัวเอง
สุดท้ายคือต้องเชื่อมโยงแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ที่เรียกว่าการทำ Multi-Channel หรือ Omni-Channel เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองลูกค้าได้อย่างไม่มีสะดุด
โปรโมตธุรกิจ E-commerce อย่างไรให้ขายดี?
ผู้ประกอบการที่สนใจจะรุกตลาด E-commerce หลายราย อาจมีคำถามว่าทำอย่างไรให้สินค้าและแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จัก และเพิ่มยอดขาย ท่ามกลางการของแข่งของธุรกิจ E-commerce ที่ค่อนข้างรุนแรง
การทำ E-commerce Marketing หรือการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นวิธีทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพ เพราะสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และเป็นช่องทางที่มีต้นทุน
ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ
E-commerce Marketing คืออะไร?
E-commerce Marketing คือ วิธีทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจออนไลน์ โดยการสร้างโฆษณาดึงดูดคนไปยังร้านค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าบนเว็บไซต์ หรือ marketplace หรือ Social Commerce
ตัวอย่างการทำ E-commerce Marketing เช่น
โปรโมตสินค้าด้วย Social Media
Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, Line, YouTube หรือ TikTok สามารถช่วยให้สินค้าและแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว และยังเข้าถึงผู้คนได้แทบทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ก็สามารถใช้สื่อ Social Media โปรโมตสินค้าและแบรนด์ได้
ตัวอย่างการใช้ Social Media โปรโมตธุรกิจ E-commerce ให้มีประสิทธิภาพ
- เลือก Target ในการยิงโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- เลือกช่วงเวลาในการโพสต์ หรือโปรโมตให้เหมาะสม
- โพสต์เนื้อหาที่ตรงกับความสนใจ และควรมีกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าบ้าง
- สร้างวิดีโอคอนเทนต์ หรือ Live Video ซึ่งทำให้การเล่าเรื่องมีน้ำหนัก และน่าติดตามมากยิ่งขึ้น
Hero Tips
ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ มีการปรับแพลตฟอร์มของตัวเองให้สามารถซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้แล้ว เช่น Facebook Marketplace และ Instagram Shopping เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายบน Marketplace ได้ด้วย ผ่านการทำโฆษณา Facebook Collaborative Ads หรือ CPAS
ลักษณะของโฆษณาประเภทนี้ก็คือ แบรนด์แชร์ catalogue สินค้าบน Marketplace เข้าไปในระบบของ Facebook > Facbook โชว์โฆษณาสินค้ากับกลุ่ม target audience ที่ตั้งไว้ > ลูกค้าคลิกจากโฆษณาเข้าไปซื้อสินค้าบน Marketplace ได้เลยทันที
(อ่านเพิ่มเติม : วิธีลงโฆษณา CPAS บน Facebook เพิ่มยอดขายให้ธุรกิจบน E-Marketplace)
โปรโมตเว็บไซต์ด้วยการทำ SEO
Search Engine Optimization หรือ SEO คือ กระบวนการปรับปรุง จัดการ พัฒนาเว็บไซต์ของเรา เพื่อให้ได้รับการจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของ Search Engine
คนส่วนใหญ่หากต้องการจะหาซื้อสินค้าอะไรสักชิ้น สิ่งที่เขาทำก่อนอื่นเลยก็คือ “การค้นหาข้อมูลบน Google” ดังนั้นการทำ SEO จุดประสงค์เพื่อให้เว็บไซต์ E-commerce ของเราอยู่ในลำดับแรก ๆ ของการค้นหานั่นเอง
ตัวอย่างการใช้ SEO โปรโมตธุรกิจ E-commerce ให้มีประสิทธิภาพ
- วางแผนล่วงหน้า เพราะ SEO ใช้เวลามากกว่า Paid Ad
- ดูเทรนด์ Keyword สำหรับช่วงเวลาต่าง ๆ และใช้ “Seasonal keyword” ให้เกิดประโยชน์ เช่น เทศกาลปีใหม่ Keyword ยอดฮิตได้แก่ “ของขวัญปีใหม่” “ของขวัญจับฉลากปีใหม่” “ที่นั่งเค้าท์ดาวน์” “New year gift” เป็นต้น
- ใช้ Google shopping เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของผู้ซื้อ
- หมั่นตรวจเช็ค SEO technical issue บนเว็บไซต์ และหน้าเพจสินค้าของคุณอยู่เสมอ
- เก็บข้อมูล Organic traffic เพื่อวางแผนต่อยอดธุรกิจ
ลงโฆษณา Google Adword
การทำ SEO เป็นวิธีการโปรโมตเว็บไซต์ที่ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ให้ผลลัพธ์ในระยะยาว แต่สำหรับแบรนด์ที่ต้องการเห็นผลลัพธ์แบบทันทีทันใด การลงโฆษณา Google Adword เป็นเครื่องมือที่จะมองข้ามไม่ได้
ลักษณะของโฆษณา Google Adword คือ ตัวโฆษณาจะปรากฏตาม Keyword ที่กำหนดไว้ โดยจะโชว์อยู่ด้านบนของหน้าแสดงผลการค้นหา เมื่อกลุ่มเป้าหมายของเราคลิกที่โฆษณาก็จะลิงค์ไปยังหน้าเว็บไซต์ของเราทันที
เราจะเสียค่าใช้จ่ายเมื่อมีคนคลิกเท่านั้น แต่ถ้าแค่เห็นแล้วเลื่อนผ่าน ไม่มีการคลิก ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ตัวอย่างการใช้โฆษณา Google Adword โปรโมตธุรกิจ E-commerce ให้มีประสิทธิภาพ
- ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ Keyword โดยพิจารณาให้ตรงกับพฤติกรรมการ Search ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
- จัดโครงสร้างของ Campaign ให้ดี ไม่ควรใส่ Keyword ทั้งหมดไว้ใน Ad Groups เดียวกัน
- Bid ราคา อย่างมีกลยุทธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าโฆษณาแพงโดยไม่จำเป็น
- ใช้ Google Analytics เก็บข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์ และติดตามประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา เพื่อนำข้อมูลไปพัฒาต่อยอดให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
Hero Tips
ปัจจุบัน Google Analytics มีฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Enhanced E-commerce ซึ่งช่วยให้เราสามารถเห็น Shopping Behavior และ Customer Journey ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ E-commerce ของเราได้แบบครบวงจร
เช่น มีคนเข้ามาเลือกดูสินค้าชิ้นไหนบ้าง หยิบสินค้าไหนใส่ลงตะกร้าแล้วชำระเงินเลย หรือมีการทิ้งตะกร้าสินค้าไว้
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ในการปรับแต่งหน้าร้าน, คิดโปรโมชัน และทำการ Re-Marketing
อย่างไรก็ตาม การติดตั้ง Enhanced E-commerce จำเป็นต้องใช้ผู้ที่เชี่ยวชาญด้าน website development และคุ้นเคยกับ Content Management System หลายๆ platform
หรือแม้กระทั่งต้องเคยเขียนโปรแกรม front-end มาเบื้องต้น
เพราะถ้า implement ไม่ถูกวิธี ข้อมูลเหล่านี้จะไม่โชว์บน Google Analytics และไม่สามารถ analyze data ต่อได้ เพราะ funnel step หรือบาง journey ขาดหายไป
(สนใจการทำ Enhanced E-Commerce คลิกที่นี่ เรามีทีม Data Analytics Specialist ที่ช่วยให้คำแนะนำ และติดตั้งฟีเจอร์นี้ให้กับเว็บไซต์ของคุณได้)
จำเป็นไหมที่ต้องใช้นักการตลาดที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ E-commerce โดยเฉพาะ?
ทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานในการทำ E-commerce Marketing เพื่อโปรโมตธุรกิจ E-commerce ของคุณให้เป็นที่รู้จัก และกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น
ต่อไปเมื่อทุกคนพร้อมใจกันลงมาแข่งในสนามนี้ เทคนิคทำการตลาดแบบทั่ว ๆ ไป อาจจะไม่พอที่จะใช้แข่งขันกับคนอื่น ๆ
เป้าหมายหลักของธุรกิจ E-commerce คือ ต้องการขายของได้ ดังนั้นนอกจากทำโฆษณาออนไลน์แล้ว ยังมีเรื่องของการทำ Website Analysis หรือการทำ Commercial Strategy ด้วย
ที่ Heroleads เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดสำหรับธุรกิจ E-commerce โดยเฉพาะ และมี E-commerce Solution ที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้ทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม Social Commerce, Marketplace หรือ Brand.com
หากคุณไม่อยากสู้คนเดียวในสนามนี้ Heroleads พร้อมเป็นพาร์ตเนอร์ที่ช่วยผลักดันธุรกิจของคุณและเติบโตไปพร้อมกัน
Source : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย