“น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” กับ การสร้าง Content Marketing ที่เด็ดเกินรสชาติ
บทความน่าอ่าน
ยอดขายไม่รู้ -ู เน้นยอด Like ! “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” กับสูตรเผ็ด การสร้าง Content Marketing ที่เด็ดเกินรสชาติ
“อร่อยเกินร้อย ให้น้อยสมชื่อ”
“สะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย ไปซื้อที่อื่น”
ถ้าคุณยังชินกับสโลแกนขายน้ำพริกแบบเดิม ๆ ของแม่ประยุทธ์ สูตรเด็ด (เจ้าเก่า) แม่กิม ล้วย ความแซ่บเต็มกระปุก หรืออะไรเทือก ๆ นี้อยู่ ก็ขอให้ลืมไปได้เลย เพราะนี่คือสโลแกนของ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย แบรนด์น้ำพริก (เจ้าใหม่) ที่ช่างก่อสร้างส่วนใหญ่แนะนำ!
นอกจากโครงการ OTOP ของรัฐบาล ก็มี Covid-19 นี่แหละที่ผลักดันให้เกิดโครงการ 1 บ้าน 1 ผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และเปลี่ยนเหล่าบรรดาแม่ ๆ ยาย ๆ ทั้งหลาย ให้กลายเป็นเจ้าของเมนูสูตรเด็ดเชฟกระทะเหล็กที่โลกยังไม่เคยได้สัมผัส
เรียกว่าช่วงนั้นบ้านไหนมีของดีอะไร ก็ต้องรีบเอามายัดกระปุก ใส่ซองพร้อมส่งขายออนไลน์กันยกใหญ่
และ “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” ก็กระโดดออกจากครกของยาย กระเด็นเข้าสายตาชาวเน็ตแบบเต็ม ๆ ในช่วงเวลานั้น แม้ไม่รู้ว่ายายน้อยเป็นใคร และไม่รู้ว่าเดิมทีคนสร้างตั้งใจจะแค่จะทำเพจเอาฮาเฉย ๆ หรือตั้งใจจะขายน้ำพริกให้ยายจริง ๆ แต่ด้วยกลยุทธ์การสร้าง Content Marketing ที่แตกต่างก็ทำให้น้ำพริกแคบหมูยายน้อยกลายเป็นที่รู้จักและความบันเทิงใน Social Media ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามใน Facebook เกือบ 1 แสนคนเข้าไปแล้ว!
ก่อนจะไปเรียนรู้สูตรเด็ดเคล็ดลับในแบบฉบับของยายน้อย เรามาทำความเข้าใจและศึกษาคู่มือการใช้งานอุปกรณ์ทำมาหากินชิ้นนี้ที่ทำให้น้ำพริกแคบหมูยายน้อยแซ่บเกินหน้าเกินตาชาวบ้านในโลกโซเชียลกันก่อนดีกว่า
Content Marketing คืออะไร?
9,320,000 คือ จำนวนผลลัพธ์ของการเสิร์ชคำว่า “Content Marketing คืออะไร” บน Google
“Content Marketing คือ หนึ่งในเทคนิคการทำ Marketing ที่ช่วยสร้างสรรค์และนำเสนอคุณค่าของแบรนด์ ผ่านการสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ต่อเนื่อง สามารถดึงดูดความสนใจและตอบคำถามที่คนอ่านต้องการอยากรู้ได้ โดยมีจุดหมายปลายทางเพื่อให้เกิด Customer Action บางประการ”
แต่มันจะไปสนุกอะไร? ถ้าเราต้องพูดถึงเรื่องสนุก ๆ อย่างนี้ด้วยหลักการ ทฤษฎี หรือคำจำกัดความที่มากมายขนาดนั้น
อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ อย่างนี้ดีกว่า… โดยทั่วไปแล้วการทำ Marketing จะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Traditional Marketing ซึ่งแปลตรง ๆ ก็คือการตลาดแบบดั้งเดิม สิ่งนี้คือการพูดถึง How to ขายสินค้า จะขายอย่างไร ขายที่ไหน ขายเท่าไหร่ และขายให้ใคร
แต่การทำ Content Marketing คือเรื่องของการสื่อสาร เราคือใคร เราขายอะไร เราเชื่อในอะไร เราขายสิ่งนี้ทำไม หรือขายแล้วดีอย่างไร จะบอกว่ามันเป็นคนละส่วนกับ Traditional Marketing ก็ไม่เชิง จะเป็นส่วนเดียวกันก็ไม่ใช่ เรียกว่าเป็นญาติห่าง ๆ หรือเป็นแฟนเก่าที่ตัดกันไม่ขาดอะไรแบบนี้ดีกว่า
ตัวอย่างสุด Classic ของ การสร้าง Content Marketing (ซึ่งยังไม่ใช่เรื่องยายน้อย)
พอบอกว่าเป็นเหมือนแฟนเก่าที่ตัดกันไม่ขาด ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ประโยคนี้จะทำให้คนงงหรือเศร้าได้มากกว่ากัน ดังนั้นแล้วการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านตัวอย่างดี ๆ สักหนึ่งชิ้นก็น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ว่ากันว่า ตัวอย่างที่ Classic ที่สุดของการสร้าง Content Marketing เกิดขึ้นในปี 1895 หรือเกือบร้อยกว่าปีที่แล้วนู่น! ไม่ใช่เพิ่งเกิดแค่ 3-4 ปีนี้อย่างที่หลายคนเข้าใจกันด้วยซ้ำ
ในยุคที่ Social Media ยังไม่ถือกำเนิดขึ้น (และแม้แต่แม่ของคนสร้าง Social Media เองก็ยังไม่เกิดเหมือนกัน) John Deere บริษัทผู้ผลิตรถไถของอเมริกาตัดสินใจตีพิมพ์นิตยสาร The Furrow ขึ้นเป็นฉบับแรกในปี 1895 เพื่อรวบรวมความรู้และนำเสนอเทคนิคใหม่ ๆ ในการทำการเกษตร ให้กับลูกค้าของบริษัทที่ส่วนใหญ่ก็คือเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม
แทนที่จะใช้เทคนิคการขายแบบเดิม ๆ ในยุคนั้น อย่างการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือป้ายต่าง ๆ ที่ทำได้แค่บอกชื่อรุ่นของรถไถ คุณสมบัติ และโปรโมชัน
John Deere กลับใช้เทคนิคใหม่ที่ทำให้บริษัทสามารถสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และนำเสนอภาพลักษณ์ของการเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้านของเกษตรกรชาวอเมริกันที่หลายแบรนด์ต่างพยายามทำมาอย่างยาวนานได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก
ลองจินตนาการดูว่าถ้าคุณมีเวลา Air time ในวิทยุแค่ 15 วินาที กับการอธิบายสรรพคุณอันยืดยาวและเทคโนโลยีสุดซับซ้อนของรถไถรุ่นใหม่ล่าสุด คุณจะเหลือเวลากี่วินาทีในการพูดเรื่องอื่น? ซึ่งนั่นเองที่เป็นข้อจำกัดในการสื่อสารที่ John Deere สามารถเอาชนะได้สำเร็จด้วย การสร้าง Content Marketing
นิตยสาร The Furrow เต็มไปด้วยเนื้อหาที่คนอ่านเพลิดเพลินพร้อมสอดแทรกความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองพบเจอได้จริง ๆ
ด้วยกลยุทธ์ในการให้ความสำคัญกับเนื้อหาทางด้านเกษตรกรรมอย่างจริงจัง มากกว่าการขายสินค้า ทำให้นิตยสาร The Furrow สามารถซื้อใจเหล่าบรรดาลูกค้าของ John Deere และเกษตรกรทั่วไปได้อย่างมากมาย พร้อมกลายเป็นนิตยสารการเกษตรที่ครองใจคนอ่านยาวนานกว่าศตวรรษ
John Deere ทำให้ลูกค้าตระหนักได้ว่าบริษัทไม่ได้แค่คิดแต่จะขายของทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังต้องการให้เกษตรกรมีผลผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริง ๆ ซึ่งมันก็กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ John Deere ขายดิบขายดีจนเอาชนะคู่แข่งในยุคนั้นได้ในที่สุด
ยายน้อยตื่นแล้ว!
หลังจากแวะไปเที่ยวทะเลอเมริกาอยู่พักหนึ่งจนยายหลับไป 3 ตื่น ในที่สุดก็ถึงคิวของ “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” แล้ว!
เมื่อ Social Media ถือกำเนิดขึ้น การทำ Content Marketing ก็ง่ายยิ่งกว่าการสร้างนิตยสารเยอะ ! ทุกบทความ ทุกสเตตัส ทุกภาพถ่าย ทุกวิดีโอที่แบรนด์โพสต์ลงบน Social Media Channel ของตัวเอง ทั้งหมดล้วนสามารถเป็น Content Marketing ได้ทั้งนั้น
แต่พอทุกอย่างมันง่าย ทีนี้ก็เลยกลายเป็นว่า “ใครๆ ก็ทำ”
แบรนด์นี้ก็ทำ Infographic แบรนด์นี้ก็มีรีวิวสวย ๆ พอเห็นแบรนด์คู่แข่งทำ แล้วแบรนด์ตัวเองไม่ได้ทำ ก็ลุกลี้ลุกลนต้องทำให้ได้อย่างเขา เพราะกลัวคนจะหาว่าสู้ไม่ได้ ไม่ทันกระแส
คราวนี้จาก “ใคร ๆ ก็ทำ” ก็เลยกลายเป็น “ใคร ๆ ก็ทำเหมือนกันไปหมด”
ทว่ามีอยู่แบรนด์หนึ่งที่ค้นพบสูตรเด็ดของ การสร้าง Content Marketing ในแนวทางของตัวเองที่ดูจะกลมกล่อมจนใคร ๆ ก็อยากจะลิ้มลองและทำตาม แต่ก็ใช่ว่างานนี้จะทำตามกันได้ง่าย ๆ – น้ำพริกแคบหมูยายน้อย
สูตรเด็ดยายน้อย ขั้นตอนที่ 1 : หยอด “ความแตกต่าง” 3 ช้อน
น้ำพริกเจ้าไหน ๆ ต่างก็บอกว่าตัวเองเป็นของดี ของอร่อยกันทั้งนั้น ดังนั้นแทนที่จะทำแบบคนอื่น น้ำพริกแคบหมูยายน้อยก็เลยขอฉีกแหกแหวกแนวบอกว่าน้ำพริกของตัวเองมัน “กินไม่ได้” ไปซะเลย!
แค่ฟังก็รู้สึกประหลาดใจจนต้องหันกลับมาอ่านซ้ำ น้ำพริกกินไม่ได้ เอ้า! แล้วจะเอามาขายทำไม? แล้วใครมันจะซื้อ? แต่นี่แหละคือสูตรเด็ดเคล็ดลับข้อที่ 1 ที่ทำให้น้ำพริกแคบหมูยายน้อยโดดเด่นไม่เหมือนใครขึ้นมาทันทีด้วยกลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง หรือ Differentiation
ตามสถิตินั้นคนเราจะตัดสินใจกดหยุดเพื่อให้ความสนใจกับโพสต์ใดโพสต์หนึ่งใน Social Media ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ลองคิดดูว่าถ้าเราเลื่อน New Feed ผ่าน ๆ หรือกดเข้าไปในหน้า shopee พร้อมกับเสิร์ชคำว่า “น้ำพริก”
ปรากฏว่าน้ำพริกทุกเจ้าขึ้นรูปภาพหน้าตาท่าทางน่ารับประทาน พร้อมใส่ข้อความกำกับ “สูตรเด็ด เจ้าเก่า” เหมือนกันหมด คำถามคือ คุณจะเลือกคลิกที่อันไหน? แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกคลิกอันที่รูปสวยที่สุด หรือไม่ก็ราคาถูกที่สุด
แต่ถ้ามีสักร้านหนึ่งที่ขึ้นภาพหน้าตาสวยงามเหมือนกัน แต่ดันมีข้อความปรากฏว่า “กินแล้วไม่อ้วน เพราะส่วนใหญ่บ้วนทิ้ง” หรือ “กินแล้วตาย คายแล้วรอด” ใช้เวลาแค่เสี้ยววินาทีก็ยังเหลือเฟือที่จะเรียกความสนใจให้คนอ่านคลิกเข้าไปดูเป็นบุญตาสักครั้งว่าน้ำพริกเจ้าไหนกันนะ ที่ช่างกล้าซะขนาดนี้
และกลยุทธ์แบบนี้แหละที่กลายเป็นคอนเทนต์หลักในหน้าเพจของน้ำพริกแคบหมูยายน้อยที่ช่างสรรหาสรรพคุณสุดประหลาดของตัวเองมาบรรยายในทุก ๆ วัน ตั้งแต่วิธีการผลิต วัตถุดิบ ไปจนถึงรสชาติ และดูเหมือนคนก็จะติดกันงอมแงมซะด้วยสิ
สูตรเด็ดยายน้อย ขั้นตอนที่ 2 : เติม “ความ Challenge” เข้าไปอีก 2 ฝา
ต่อจากวิธีการนำเสนอที่แตกต่าง ยายน้อยก็สานต่อความสำเร็จด้วยการสร้าง Challenge ที่ถูกอกถูกใจคนไทยและทั่วโลก “ก็บอกว่ามันกินไม่ได้ แล้วยังจะอยากกินกันอีกหรือไง?”
กลายเป็นว่าแทนที่คนจะตอบว่า “ไม่กิน” แต่คนส่วนใหญ่กลับยิ่งรู้สึกถึงความท้าทายในการลิ้มลองรสชาติแห่งความหายนะของยายน้อย ว่ามันจะสมคำร่ำลือขนาดไหน จนต้องตอบกลับไปว่า “ต้องขอลองกินสักครั้ง”
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังสงสัยอยู่ว่าสรุปแล้วน้ำพริกแคบหมูยายน้อยนี่ทำมาขายจริง ๆ ใช่หรือไม่
คำตอบคือ ขายจริง ๆ ! แล้วก็มีคนซื้อเยอะซะด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากความรู้สึกอยาก Challenge ทั้งนั้น
จริง ๆ แล้วกลยุทธ์แบบนี้ไม่ได้เพียงใช้ได้ผลกับยายน้อยเท่านั้น แต่มันยังเวิร์กมาก ๆ กับหลาย ๆ แคมเปญและผลิตภัณฑ์ ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เผ็ดที่สุดในโลกของเกาหลี หรือแม้แต่ไก่เผ็ดของ KFC ที่ว่ากันว่ามันเผ็ดจนต้องร้องขอชีวิต เผ็ดจนไม่มีใครกินหมด
แม้จะรู้ว่าเป็นการเสี่ยงเสียเงินเพื่อรับประทานสิ่งของที่อาจจะทานไม่ได้ และยังทรมานตัวเองอีกต่างหาก แต่ด้วยความรู้สึกอยากเอาชนะของมนุษย์เรานี่แหละที่ทำให้คนยิ่งอยากท้าทายความสามารถและพิสูจน์ตัวเองกับกิจกรรมแปลก ๆ เหล่านี้
และจะว่าไปเบื้องหลังที่ทำให้แอปพลิเคชัน TikTok ประสบความสำเร็จโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดนี้ทั้งหมดก็เป็นเพราะไอเดียในการสร้าง Challenge ล้วน ๆ เหมือนกัน
สูตรเด็ดยายน้อย ขั้นตอนที่ 3 : ใส่ “UGC” เข้าไปเลย 10 ทัพพี !
UGC หรือ User Generated Content คือเป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์นำคอนเทนต์ที่ลูกค้ายินดีและเต็มใจสร้างสรรค์ให้แบบฟรี ๆ มาใช้งานเป็น Content Marketing ของตัวเอง ซึ่งหากส่วนผสมใน 2 ข้อแรกของยายน้อยเป็นดั่งวัตถุดิบตั้งต้นแล้ว เจ้า UGC นี้ก็คือผงชูรสที่ทำให้น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเผ็ดเด็ดแซ่บจนเกินใครในขั้นตอนสุดท้าย!
สโลแกนทั้งหลายแหล่ของน้ำพริกแคบหมูยายน้อยที่ปรากฏในเพจนั้น แน่นอนว่ายายน้อยไม่ได้เป็นคนคิดเองแน่ ๆ แต่ที่น่าเซอร์ไพรส์กว่าก็คือแม้แต่แอดมินเองก็แทบจะไม่ได้เป็นคนคิดมันขึ้นมาเหมือนกัน เพราะจริง ๆ แล้วสโลแกนและคอนเทนต์ต่าง ๆ ในเพจนั้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ลูกเพจและแฟน ๆ ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ยายน้อยอย่างสนุกสนาน
รวมถึงบทสนทนาการสั่งซื้อสุดกวนใน Messenger ที่มักจะถูก Capture นำมาทำเป็นคอนเทนต์ในหน้าเพจอยู่บ่อย ๆ และการรีวิวสุดฮาในคอมเมนต์ที่เหมือนจะเป็นที่ระบายอารมณ์ขันของเหล่าแฟนเพจมากกว่าการเชิญชวนให้คนมาซื้อเพิ่มขึ้น
ในขณะที่บางเพจ บางแบรนด์นั้นคิดกันหัวแทบแตกว่าจะโพสต์อะไรให้คนมากดไลก์ กดแชร์ กดคอมเมนต์ แต่น้ำพริกแคบหมูยายน้อยสามารถทำมันได้อย่างง่าย ๆ ในทุกวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากกลยุทธ์การทำ Content Marketing ทั้งหมดในข้อ 1, 2 และจนถึงข้อ 3 นี้นี่เอง
ตามหาสูตรเด็ดในแบบของคุณเอง
ถ้าคุณเคยอ่านบทความประเภทที่ว่า “5 วิธีการทำ Content Marketing สุดปัง” หรือ “ทำคอนเทนต์แบบนี้แล้วมีคนไลก์รัว ๆ แชร์ชัวร์ ๆ” อะไรทำนองนี้มาบ้าง เราขอแนะนำให้คุณลืมมันไปซะ หรือไม่อย่างน้อยก็อย่ากดเข้าไปอ่านมันอีกเลย
เพราะสูตรสำเร็จการทำ Content Marketing ทั้งหลายที่ถูกเขียนในอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ไม่มีวันทำให้แบรนด์หรือสินค้าประเภทไหนประสบความสำเร็จได้อย่างที่น้ำพริกแคบหมูยายน้อยทำ
ลองจินตนาการถึงร้านข้าวมันไก่ที่ทุกอย่างในร้านคือการใช้ของสำเร็จรูปทั้งหมดดูสิ น้ำจิ้มจาก Tesco Lotus ไก่สำเร็จจาก Makro น้ำซุปจากคนอร์ คุณคิดว่าข้าวมันไก่ร้านนี้จะกลายเป็นข้าวมันไก่ชื่อดังได้หรือเปล่า?
แน่นอนว่าข้าวมันไก่ร้านนี้ก็คงมีคนแวะเวียนกันเข้ามารับประทานอยู่บ้าง เนื่องด้วยรสชาติของทุกอย่างก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับประทานได้ตามสูตรสำเร็จ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถจดจำรสชาติอันแสนจะธรรมดานี้ได้
การทำ Content Marketing ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องเกิดจากการคิดค้น ลองผิดลองถูกและตามหาสูตรเด็ดในแบบของตัวเอง และแม้คุณจะรู้สึกว่าการทำคอนเทนต์ของน้ำพริกแคบหมูยายน้อยนั้นเวิรกและอยากทำตามขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่เมื่อทำออกมาแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน
ใครว่า Content Marketing ขายของไม่ได้?
หากคุณยังอยู่กับเราจนถึงบรรทัดนี้ เราก็มั่นใจว่าคุณคงไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกว่าการทำ Content Marketing นั้นช่วยทำให้แบรนด์ขายของได้อย่างไร?
จริง ๆ แล้วบทความนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากนิตยสาร The Furrow ที่ Heroleads ของเราหวังว่ามันจะทำให้ใครสักคนหนึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของการทำ Content Marketing และสามารถบอกกับทุกคนได้ว่า Heroleads นั้นสนุกและอินกับการทำ Content Marketing ขนาดไหน?
และใช่แล้ว! นี่ก็คือพาร์ทขายของสุดน่ารักและแนบเนียนของพวกเรานั่นเอง
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการทำ Content Marketing ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่สามารถลอกเลียนแบบหรือใช้สูตรสำเร็จของใครได้ ซึ่ง Heroleads เองก็อยากเห็นทุก ๆ แบรนด์มีสูตรเด็ดเคล็ดลับในแบบของตัวเองเช่นกัน
Heroleads ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ และ E-commerce ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำ customer-based marketing strategy หรือการสร้างไอเดียและกลยุทธ์การตลาดที่มีพื้นฐานมาจากความต้องการของลูกค้าอย่างที่เคยกล่าวถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้า
Customer-Based Marketing : คิดจากลูกค้า!กลยุทธ์ความสำเร็จธุรกิจยุคดิจิทัล – Heroleads
ก็หวังว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งพวกเราคงมีโอกาสได้ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นสูตรเด็ด Content Marketing ที่เหมาะสมกับแบรนด์ของคุณ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบ Page Persona การมองหา Target Audience ที่เหมาะสม การกำหนด Mood&Tone ของภาษาและภาพ รวมถึงการคัดสรร Content Pillar เพื่อการสื่อสารที่ครอบคลุมในทุกมุมมองทั้งที่แบรนด์อยากเล่าและที่คนอยากฟัง
และเมื่อถึงตอนนั้นเราคงได้ร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสนุก ๆ ที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของแบรนด์อย่างที่น้ำพริกแคบหมูยายน้อยสามารถทำได้ในวันนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยากเริ่มสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักและจดจำบน Social Media
หรือไม่อย่างน้อยก็ขอให้บทความนี้ได้เป็นดั่งนิตยสาร The Furrow สำหรับชาว Marketer สักหนึ่งคน หรือเป็นความเพลิดเพลินของวันในการเสพคอนเทนต์มัน ๆ อย่างที่ “น้ำพริกแคบหมูยายน้อย” ทำก็คงเพียงพอ